ศูนย์บริการคนพิการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

ประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เรื่อง คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

 ข้อบังคับ

ของศูนย์บริการคนพิการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

  หมวดที่ 1 

ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

 ข้อ 1 ศูนย์บริการคนพิการ นี้ชื่อว่า  “ศูนย์บริการคนพิการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย” 

ข้อ 2  เครื่องหมายศูนย์บริการคนพิการนี้ คือ

ข้อ 3  สำนักงานตั้งอยู่อาคารเลขที่ 521 หมู่ที่ 6 ถนนศูนย์ราชการฝั่งหมิ่น  ตำบลริมกก  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย รหัสไปรษณีย์  57100

หมวดที่ 2

วัตถุประสงค์

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของศูนย์บริการคนพิการ นี้คือ

4.1 เพื่อให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบได้เข้าถึงบริการ และสวัสดิการ ตามสิทธิที่พึงได้รับในระดับชุมชนและจังหวัด

4.2 เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน/ท้องถิ่น/องค์กรด้านคนพิการมีการจัดการตนเอง และการจัดบริการคนพิการทั้งในระดับชุมชนและจังหวัด

             4.3  เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ และมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 

หมวดที่ 3

โครงสร้างและการบริหารงาน

ข้อ 5     ศูนย์บริการคนพิการ นี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  และให้มีคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการ  ไม่น้อยกว่า 7  คน และไม่เกิน  15  คน  ประกอบด้วย

              ประธานกรรมการ 1 คน

              รองประธานกรรมการไม่เกิน 3 คน

              กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับงานด้านคนพิการ งานด้านอาสาสมัคร ไม่เกิน 3 คน

              กรรมการที่มาจากองค์กรคนพิการ ไม่เกิน 2 คน 

ข้อ 6  กรรมการผู้ดำเนินฯ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี

ข้อ 7  เพื่อให้การดำเนินการของศูนย์บริการคนพิการฯ ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในวาระเริ่มแรก เมื่อคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการ ได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ 1 ปี (ครึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่ง) ให้มีการจับสลากออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ที่มีอยู่ ให้คณะกรรมการศูนย์บริการที่เหลือเลือกตั้งบุคคลเป็นกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ แทน กรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแทนผู้ที่จับสลากออกไป ให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระตามข้อ 9 เว้นแต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 7

ข้อ 8 การคัดเลือกกรรมการศูนย์บริการคนพิการเพิ่มเติม ให้ถือมติเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ

ข้อ 9 กรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับสลากออกอาจได้รับเลือกเป็นกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ได้อีก 

ข้อ 10  ถ้าตำแหน่งกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  ตำแหน่งใดว่างลง  ให้คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  ที่มีอยู่คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 6  เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  แทนตำแหน่งที่ว่างนั้น  และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  ตามวาระของกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ  ที่ได้รับแต่งตั้งแทน

หมวดที่ 4

การให้บริการ 

ข้อ  11 ศูนย์บริการคนพิการมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้         

11.1  เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความช่วยเหลือตามที่คนพิการร้องขอ และตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด รวมทั้งการให้คำปรึกษาหรือช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการขอใช้สิทธิประโยชน์แก่คนพิการ

11.2 เพื่อเรียกร้องแทนคนพิการให้ได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ หรือขอให้ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการตามพระราชบัญญัติ

              11.3 เพื่อให้บริการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การฝึกอาชีพ และการจัดหางานให้แก่คนพิการ 

              11.4 เพื่อให้บริการความช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ที่มีแนวโน้มจะพิการให้ได้รับการดูแล รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือได้รับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามความต้องการจำเป็นพิเศษเฉพาะบุคคล

              11.5 เพื่อประสานความช่วยเหลือกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้ความช่วยเหลือคนพิการตามประเภทความพิการ

              11.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับศูนย์บริการคนพิการ

              11.7 ปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินการและมาตรฐานการให้บริการแก่คนพิการตามเกณฑ์ชี้วัดที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

หมวดที่ 5

การประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ

ข้อ 12 คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี ภายในเดือนมีนาคม และต้องมีกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 13 การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ เรียกประชุม หรือเมื่อกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ยื่นความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังประธานกรรมการชมรมฯ หรือผู้ทำการแทน ขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้

ข้อ 14   กำหนดการประชุม และองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ จะกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง  และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 22  บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 15 ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ หรือคณะอนุกรรมการหากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็น ผู้ชี้ขาด  กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ มีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ แต่ประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นการการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ

ข้อ 16 ในการประชุมกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ หรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการศูนย์บริการ คนพิการฯ หรือประธานที่ประชุม มีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือสังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

หมวดที่ 6

คุณภาพการให้บริการ

ข้อ 17 ให้ศูนย์บริการคนพิการแต่ละประเภทมีมาตรฐานการดำเนินการและมาตรฐานการให้บริการแก่คนพิการตามเกณฑ์ชี้วัดที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

หมวดที่ 7

การเงิน

ข้อ 19 ประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละคราวละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินวงเงินดังกล่าว จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการ และประธานศูนย์บริการคนพิการฯ อาจมอบอำนาจดังกล่าวหรือบางส่วนให้แก่กรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ใดหรือเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการฯ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานก็ได้ เมื่อได้มีการมอบอำนาจแก่ผู้ใด ให้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ เพื่อทราบ

ข้อ 20 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท

ข้อ 21 เงินสดของศูนย์บริการคนพิการ หรือเอกสารสิทธิต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน

ข้อ 22  การสั่งจ่ายเงินโดยเช็ค หรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ หรือ  เลขานุการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง โดยมีเงื่อนไขสั่งจ่ายลงนาม 2 ใน 3 จึงจะเบิกจ่ายได้

ข้อ 23 การใช้จ่ายเงิน ให้ใช้จ่ายตามโครงการที่คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ได้อนุมัติไว้ และหากมีความจำเป็นอื่นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ ก่อน ส่วนการใช้จ่ายเงินจากเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจากบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ให้ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของผู้บริจาคนั้นๆ

ข้อ 24 ให้คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน และการจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้  

ข้อ 25 ให้มีผู้สอบบัญชีของศูนย์บริการคนพิการฯ ซึ่งคณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ เห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการคนพิการฯ โดยจะให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิตติมศักดิ์หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไรสุดแต่ที่ประชุมกรรมการมูลนิธิฯ จะกำหนด

ข้อ 26 ให้คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ จัดทำงบดุลปีละ 1 ครั้ง แล้วส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างช้าไม่เกินเดือนมกราคมของทุกปี แล้วมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบได้ก่อนวันประชุมสามัญประจำปี

ข้อ 27 ให้ถือวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกๆ ปี เป็นวันสิ้นปีในการบัญชีของศูนย์บริการคนพิการฯ

ข้อ 28 อำนาจของผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบบัญชีและบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินของศูนย์บริการคนพิการฯ และมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการคนพิการฯ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี และเอกสารดังกล่าวและรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการศูนย์บริการคนพิการฯ จะต้องรายงานต่อส่วนราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง 

หมวดที่ 8

การแก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ 29 ข้อบังคับนี้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยมติที่ประชุมกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มาประชุม จึงจะกระทำได้ 

 

 ***********

สภาพปัญหาการดำเนินงานด้านคนพิการ

1. ปัญหาอุปสรรค  และความต้องการ  การดำเนินงานด้านต่าง ๆ   สรุปดังนี้

(1)  สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ราชการตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ทางลาดส่วนใหญ่มีความชันมากไปและมีเสากีดขวาง ห้องน้ำคับแคบรถเข็นเข้าไม่ได้ โดยรวมสถานที่ราชการยังไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการรับบริการ และการใช้ประโยชน์

(2)  การซ่อมแซมรถโยกรถเข็นมีปัญหาเรื่องการสั่งซื้ออะไหล่ และการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษาและศาสนสถาน ปัจจุบันการสร้างหรือปรับปรุงมีน้อยมาก 

(3)  สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานบริการสาธารณะควรมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน

(4)  ควรมีประกาศ ข้อบังคับ บทลงโทษ สำหรับบุคคลทั่วไปที่เบียดบังสิทธิของคนพิการ เพื่อให้เกิดความตระหนักในสิทธิหน้าที่และความเท่าเทียม เช่น คนทั่วไปจอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการ  

(5)  ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกในที่อยู่อาศัยของคนพิการ โดยส่วนราชการให้การสนับสนุนในการปรับปรุงสถานที่และอุปกรณ์จำเป็นในการดำเนินชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และควรมีสถานศึกษา รวมทั้ง บุคลากรที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก 

(6)  ควรมีมาตรการในการกำกับติดตามสถานศึกษาให้รับนักเรียนพิการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป รวมทั้งการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรพี่เลี้ยงคนพิการ และนโยบายในด้านจัดการศึกษา ควรมีทุนสำหรับนักเรียน/นักศึกษาพิการให้ครอบคลุมทุกด้าน (การศึกษา การดำเนินชีวิต สื่อ และอุปกรณ์ฯลฯ)

(7)  ควรมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่คนพิการและผู้ดูแล เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยมีแผนและงบประมาณในการสนับสนุนด้านอาชีพต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนการตลาดเพื่อรองรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนพิการ  ตลอดจน จัดให้มีตลาดกลางในการจำหน่ายอย่างเป็นระบบ 

(8)  ส่วนราชการที่ให้บริการด้านการคมนาคม ควรอำนวยความสะดวกด้านสถานที่และบริการแก่คนพิการ เช่น มีช่องทางพิเศษ มีเจ้าหน้าที่บริการติดต่อประสานงาน เป็นต้น  

(9)  ควรเปิดโอกาสให้มีเวทีแสดงออกเพื่อค้นหาศักยภาพของคนพิการได้อย่างเต็มที่

(10) บุคลากรทางการศึกษาขาดความรู้ในการดูแลนักเรียนพิการ ควรมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยเฉพาะ

(11) หน่วยราชการควรมีแผนอัตรากำลังเพื่อรองรับคนพิการที่สำเร็จการศึกษาเข้าทำงาน 

(12) ควรมีฐานข้อมูลคนพิการอย่างเป็นระบบและครอบคลุมในทุกๆ ด้านในระบบสารสนเทศ และเป็นปัจจุบัน 

(13) ควรมีการขอความร่วมมือและรณรงค์ให้สถานประกอบการ รับคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมายหรือมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐรับคนพิการเข้าทำงาน (หนึ่งหน่วยงาน หนึ่งคนพิการ)

(14) องค์กร หน่วยงาน บุคคลที่ให้ของบริจาคแก่คนพิการควรมีการตรวจสอบและคัดเลือกคุณภาพสิ่งของทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

 

*************

แนวคิดนโยบายด้านคนพิการ

               ปัจจุบันภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และชุมชน ได้ให้ความสนใจต่อคนพิการมากขึ้น โดยมีการกำหนดให้คนพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายในลำดับต้นๆ ที่จะให้บริการ และ/หรือ ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสังคมให้ความสำคัญกับคนพิการด้วยการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน หรือการกำหนดให้มีคนพิการและครอบครัวเป็นองค์ประกอบ ในกระบวนการตัดสินใจของชุมชนในการจัดเวทีประชาคมเรื่องต่างๆ  ประกอบกับความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองของคนพิการที่มีสูงขึ้นจากการมีตัวอย่างของ  คนพิการที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากสังคม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์คนพิการเปิดตัวออกสังคมมากขึ้น และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  พ.ศ.2550 แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติต่อคนพิการที่ผ่านมาไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมปัจจุบัน จึงได้กำหนดสิทธิของคนพิการไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะตัวคนพิการเท่านั้น ยังมีการพิจารณาไปถึงสิทธิของครอบครัวคนพิการหรือผู้ดูแลที่จะได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้พึ่งตนเองได้ด้วย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวของคนพิการซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของคนพิการได้อย่างแท้จริง  อีกทั้ง  การกำหนดไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการเป็นการเน้นย้ำในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สังคมไม่อาจละเลย แนวคิดและนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจึงสรุปได้ดังนี้

(1) แนวคิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวบุคคล

(2) กฎมาตรฐานว่าด้วยความเสมอภาคทางโอกาสแก่คนพิการขององค์การสหประชาชาติกำหนดให้ดำเนินงานเพื่อคนพิการอย่างเสมอภาค   เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าสู่สังคมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

(3) ปฏิญญาคนพิการไทยส่งเสริมการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของคนพิการมีเสรีภาพและมีอิสระตามศักยภาพ ได้รับโอกาสทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและพัฒนา ตลอดจน ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก และความช่วยเหลือจากรัฐ

(4) แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 5 ยุทธศาสตร์  คือ

           ยุทธศาสตร์ที่ 1  เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็ง

: EMPOWERMENT 

           ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง

: QUALITY MANAGEMENT

           ยุทธศาสตร์ที่ 3  เสริมสร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ

: UNDERSTANDING

            ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 

ACCESSIBILITY

            ยุทธศาสตร์ที่ ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน : LINKAGE 

(5)  ประเด็นยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

             ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมคนพิการให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างเท่าเทียม (Accessibility)

             ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือกับองค์กรด้านคนพิการและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ (Association)

              ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 บูรณาการและขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (Advance Policy)

             ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพและสร้างเจตคติที่สร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ (Ability)

               ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนา พก. ให้เป็นองค์กรที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (Achieved Organization)

(6)  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้ใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่และเสมอภาค สาระสำคัญ ได้แก่ การเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การอยู่ได้ด้วยตัวเอง เสรีภาพในการตัดสินใจเลือก และความเป็นอิสระ การไม่เลือกปฏิบัติ การเข้ามีส่วนร่วมและเข้าร่วมของคนพิการได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในสังคม เคารพความแตกต่างและการยอมรับคนพิการว่าเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างของมนุษยชาติและความเป็นมนุษย์แม้ว่า จะมีแนวคิดและนโยบายหลากหลายที่มีส่วนสำคัญต่อการดำเนินงานด้านคนพิการก็ตามแต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยทั่วไปพบว่าการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของทุกหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรของคนพิการยังไม่เข้มแข็งอย่างแท้จริง คนพิการและครอบครัวยังคงต้องการเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือมากกว่าการพยายามพึ่งพาตนเอง รวมทั้งสังคมยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตลอดจนการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ